วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

TBANK ควบ SICB "เราจะโต"

  


alt
 
         ถ้าจะว่าไปกลยุทธ์การซื้อขายกิจการถือกัน ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ ก่อนจะขยายลามไปยังส่วนต่างๆ ของโลก สำหรับในบ้านเราการควบรวมกิจการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกปี 2533 โดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม จำกัด เข้าซื้อหุ้น บริษัท สามชัยอิเลคโทรนิคส์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จนครอบครองหุ้นกว่า 10% แต่ถ้าพูดถึงสถาบันการเงิน ขอยกตัวอย่าง การควบรวมที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำ ในการควบรวมกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังการรวมตัวกันเป็นผลให้ธนาคารทหารไทยกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ด้วยมูลค่าของสินทรัพย์กว่า 7 แสนล้านบาท เมื่อปี 2547 นอกจากนี้ ยังมีการรวมและโอนกิจการระหว่างธนาคารยูโอบีรัตนสิน จำกัด (มหาชน) และธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ ได้เข้าซื้อหุ้นของธนาคารรัตนสิน และซื้อหุ้นของธนาคารเอเชีย จาก ABN Amro 
     และล่าสุดการควบรวมของ ธนาคารธนชาต ที่ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 6.8 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อ ธนาคารนครหลวงไทย จากกองทุนฟื้นฟู ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นคู่ที่เหมาะสมกันดีในเชิงธุรกิจ เพราะแต่ละฝ่ายมีความชำนาญที่ต่างกันออกไป
     ว่ากันถึงอายุอานาม ธนาคารนครหลวงไทย ผ่านร้อนผ่านหนาว มานานถึง 69 ปี ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ธนาคารแห่งนี้ล้มลุกคลุกคลานมาจนจะปิดแบงก์ก็หลายครั้ง มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท ถือเป็นแบงก์ขนาดกลาง มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 7 ขณะที่ทางด้านธนาคารธนชาต แม้อายุจะยังเยาว์เพียงแค่ 8 ปี และมาจากการรวมกันของสถาบันการเงิน 5 แห่ง มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 3.8 แสนล้านบาท แต่ถือว่าเป็นแบงก์ขนาดเล็กที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนต้องจับตามองและเมื่อทั้ง 2 แบงก์รวมกันจะทำให้ขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมาเป็น 8 แสนล้านบาท โตพุ่งขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย กลายเป็นแบงก์ใหญ่ที่น่ากลัวไม่เบา แต่จะน่ากลัวแค่ไหน ต้องดูส่วนผสมอย่างละเอียดของแต่ละแบงก์ ว่าจะเข้ากันได้ดีเพียงใด
     ต่างคนต่างเก่ง
 
หากจะพูดถึงแรงจูงใจที่นำไปสู่การควบรวม กิจการแล้ว มีตั้งแต่การรวมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งจากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Synergies) บ้างก็ว่าเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน และเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรในอนาคต
 
แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใด การควบรวมกิจการที่ประสบความสำเร็จ ต้องไม่พลาดที่จะดูความสอดคล้องต้องกันในทางธุรกิจด้วย
 
ย้อนปูมไปเมื่อก่อตั้งธนาคารธนชาตเมื่อปี 2547 นั้น ธนชาตเป็นธนาคารขนาดเล็กที่เพิ่งแจ้งเกิด ทำให้ธนาคารธนชาตเลือกที่จะปักธงไปที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
 
“คือ เราคิดว่าจะโตอย่างไร ขณะนั้นคิดว่าต้องสร้าง niche market เราก็ไปทางสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แล้วเราก็ทำได้ดีโตไปได้” สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวเช่นนั้นกับ MBA
 
แล้วกลยุทธ์นี้ก็ประสบความสำเร็จ ดูได้จากตัวเลขการเติบโตของมาร์เก็ตแชร์ 25% เรียกว่า เป็นธนาคารขนาดเล็กที่มาแรงทีเดียว แต่เมื่อมาถึงนาทีนี้ ต้องยอมรับโอกาสเติบโตในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เช่นนั้นดูจะเริ่มตีบตันไป เสียแล้ว
 
alt
 
ขณะที่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2484 ในชื่อ “ธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย” ภายหลังได้มีการควบรวมกับธนาคารศรีนครในปี 2545 ปัจจุบันธนาคารมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือ หุ้นใหญ่ในสัดส่วน 47.58%
 
ทั้งนี้ ถ้าดูพอร์ตสินเชื่อของทั้ง 2 ธนาคาร จะเห็นว่า ส่วนใหญ่สินเชื่อของธนาคารธนชาตจะเป็นรายย่อย โดยมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสัดส่วนถึง 95% ที่เหลือเป็นสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบัตรเครดิตเพียงนิดหน่อย ส่วนธนาคารนครหลวงไทย โดยส่วนมากเป็นสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อบ้าน ฉะนั้น ภาพในเชิงธุรกิจของทั้ง 2 ธนาคาร จึงแทบจะไม่ซ้ำซ้อนกันเลย แถมโครงสร้างธุรกิจยังเสริมซึ่งกันและกันอีกด้วย
 
“ถ้ารวมกัน แล้วประมาณ 50% เป็นสินเชื่อบุคคล คือรถ บ้าน บัตรเครดิต อีก 50% เป็นสินเชื่อธุรกิจ และเอสเอ็มอี ทำให้ balance กันดี สินเชื่อธุรกิจ เวลาปล่อยๆ ก้อนใหญ่ แต่ดอกเบี้ยไม่ได้ แต่สินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยดี ความเสี่ยงกระจาย หลักการใหญ่ๆ เป็นฐานที่ทำให้เราสู้กับคู่แข่งได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันมีฐานะลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น เพราะไม่ใช่เงินกู้เงินผ่อนอย่างเดียว แต่มีอย่างอื่นด้วยอย่างประกันชีวิต”
 
นอกจากนี้ การควบรวมยังทำให้โครงสร้างธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเชิงรายได้ เพราะสินเชื่อรถยนต์ จะเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ ส่วนสินเชื่อธุรกิจจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ฉะนั้น จึงเป็นข้อดีอีกประการหนึ่งในแง่เวลาที่ดอกเบี้ยมีความผันผวน
 
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่มีข่าวการซื้อธนาคารนครหลวงไทย ก็มีคำถามตามมาว่า “ซื้อนครหลวงไป แล้วทำ corporate loan เป็นหรือ?”
 
“ต้องบอกว่า จริงๆ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เราทำสินเชื่อ corporate มา เราซื้อหนี้ ปรส. เราเอาบริษัทใหญ่ๆ เข้าตลาดหลักทรัพย์ เราช่วยระดมทุนธนาคารใหญ่ๆ เป็นหมื่นๆ ล้าน เราก็ทำมาหมดแล้ว เพียงแต่ว่าตอนต้มยำกุ้งมา เราตั้งต้นใหม่ เราจำเป็นต้อง niche market ขึ้น ฉะนั้นเราทำเป็น ไม่มีปัญหา”
 
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารธนชาตสนใจธนาคารนครหลวงไทย โดยใช้เวลาศึกษานานร่วม 2 ปีก่อนตัดสินใจเข้าซื้อ
 
“ดูต่อ เนื่องกันมา 2 ปี ศึกษาและรอจนกระทั่งกองทุนฟื้นฟูประกาศขาย อันนี้เราพิจารณาร่วมกับโนวาสโกเทีย หุ้นส่วนด้วย 
ก็เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประโยชน์ในการขยาย แล้วเราใหญ่ขึ้น บริการการเงินครบถ้วนขึ้น เป็นประโยชน์กับลูกค้า ความที่เราใหญ่ขึ้นทำให้สามารถพัฒนาเงินทุนในระบบดีขึ้น”
 
ไม่เพียงแค่นั้น สมเจตน์ ยังบอก
อีกด้วยว่า จริงๆ แล้ว ดีทั้งในเชิงธุรกิจของ
ธนชาต และยังเป็นการสนองตอบนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยในการสนับสนุนการควบรวม กิจการภายในประเทศเพื่อให้มีขนาดใหญ่ เพราะจะทำให้สถาบันการเงินสามารถลงทุนได้ดีขึ้น มี economy of scale ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่สำคัญ คือการนำไปสู่ความมั่นคง
 
สำหรับสาขา ซึ่งเป็นเสมือนแขนขาในการทำธุรกิจนั้น ดูเหมือนว่าธนาคารธนชาต จะใช้เวลาอันรวดเร็วในการสร้างสาขาถึง 200 กว่าสาขา ขณะที่ธนาคารนครหลวงไทยมี 400 กว่าสาขา ทันทีที่การควบรวมกิจการเสร็จสิ้นประมาณปี 2554 จะมีสาขารวม 687 แห่ง และตู้เอทีเอ็มอีก 2,101 เครื่อง
 
“อย่างสาขาแม้จะซ้อนกันบ้างก็รวม แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะหยุดโต เราก็จะโตอีก ดังนั้น สาขายังจำเป็น”
 
สมเจตน์ เชื่อมั่นว่า ในที่สุดจะนำไปสู่การทำให้ลูกค้าเห็นว่าธนาคารมีความมั่นคง และเมื่อมีความมั่นคงก็จะสามารถระดมเงินฝากมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ดีขึ้น  “รายการ นี้ทั้งสองแห่งไม่มีใครเป็นน้ำเสีย เขาแข็งแรง เราไปดูแล้ว เรียกว่าเอาเก่งสองคนมาร่วมกัน เก่งเล็กสองคนรวมเป็นเก่งใหญ่ โดยมีโนวาสโกเทียสนับสนุนอยู่ มันเป็นการผสมสานระหว่าง local expertise กับ international expertise จากโนวาสโกเทีย” 
 
 
Due Diligence ผ่าน
 
กลยุทธ์ในการเข้าควบรวมกิจการ มักจะพิจารณาหลายด้านประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดราคา ไปจนถึงการบริหารจัดการภายหลังการซื้อหรือควบรวมกิจการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก่อนการตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายคือ การตรวจสอบข้อมูลทางการเงินอย่างละเอียด ซึ่งเรียกว่าการทำ Due Diligence ซึ่งจะทำทั้งในด้านการเงิน ด้านกฎหมาย และด้านการประเมินราคาทรัพย์สินที่สำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าการกำหนดราคานั้นมีความสมเหตุสมผลตามความเป็นจริง
 
หลายครั้งที่เมื่อทำ Due Diligence แล้วทำให้โครงการควบรวมต้องล้มเลิกไป อันเนื่องมาจากการตรวจพบว่า มีบางอย่างซุกซ่อนอยู่
 
“ตอนทำ Due Diligence ทางธนาคารธนชาตประเมิน 2 ด้านหลัก คือ 1. ดูทรัพย์สินปัจจุบันราคาจริงเป็นเท่าไร และ 2. ต่างคนต่างอยู่แบงก์จะเติบโตยังไง แต่ถ้ารวมกันแล้วด้วยเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น ด้วยทรัพยากรบุคคลที่รวมกัน ด้วยฐานลูกค้าใหญ่ขึ้น ฐานต้นทุนดีขึ้น สามารถคิดค้นนวัตกรรมเอาไปขายเรียกว่า cross sale มูลค่าที่เพิ่ม เราพิจารณาจากพวกนี้ คำนวณตีค่าออกมาเป็นราคา ฉะนั้น ราคา 32.50 บาท/หุ้น ไม่แพง”
 
ดีลนี้ธนาคารธนชาต ต้องทุ่มทุน 68,000 ล้านบาท โดยจ่ายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1,005 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 47.58% ในราคาหุ้นละ 32.50 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 32,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือรองรับการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์
 
ทั้งนี้ การจะตอบว่า คุ้มหรือไม่คุ้มนั้น คงต้องดูต่อจากนี้ว่า มูลค่าเพิ่มที่ดูกันไว้นั้นจะร่วมกันสร้างให้เป็นจริงหรือไม่?
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่คือหนี้เน่าที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสมเจตน์ กล่าวยอมรับว่า 
เรื่องเอ็นพีแอลยังไม่จบ และตอนทำ Due Diligence พอจะรู้อยู่ ก็ได้มีการหารือกันว่าวิธีที่จะได้ผลเร็วที่สุดที่จะแก้ปัญหานี้คืออะไร
 
“มีหลายทาง เลือก ใช้ทีมเก่าทำ หรือทีมเราก็มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ เบื้องต้นหารือกันอยู่ มันจะแยกได้เป็นสองกลุ่ม corporate ก็เป็นรายๆ ไป ส่วนรายย่อยกระจายขนาดไหนก็ต้องดูกันต่อไปอีก แต่ที่แน่ๆ ไม่หนักใจ เรื่องแก้หนี้เสีย สำหรับเราชิวๆ เพราะเราซื้อหนี้มาเยอะแล้ว ซื้อ ปรส. ผมเองเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บสท. แก้หนี้เสียระดับประเทศมาแล้ว เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก”
 
alt
 
ไร้ปัญหาวัฒนธรรม
 
“หลักการควบ รวมกิจการ ต้องดูว่าโมเดลชนกันไหม การสื่อสารเพียงพอที่จะสร้างความเข้าใจหรือไม่ และต้องมีความชัดเจนเรื่องกลยุทธ์ที่จะเดินต่อ” สมเจตน์ อธิบายถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการควบรวมกิจการ
 
ซึ่งโดยปกติการควบรวมกิจการที่ไม่ประสบความ สำเร็จภายหลังการควบรวมแล้ว มักจะเกิดจากปัญหา เช่น การประเมินค่าสูงเกินไปสำหรับศักยภาพที่ได้จากการรวมกิจการนั้นๆ และการบริหารการรวมตัวกันหลังจากมีการควบรวมกิจการแล้วทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ดังตัวอย่างหนังเรื่อง Gung Ho ที่กล่าวถึงในตอนแรก
 
ว่ากันถึงสไตล์การบริหารงานของธนาคารนคร หลวงไทย และธนาคารธนชาต สมเจตน์ ฉายภาพให้เห็นว่า อันที่จริงไม่แตกต่างกันนัก โดยเหตุผลคือ ประการแรกทุกคนเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันเพื่อขายสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ประการที่สอง การบริหารงานจะใช้หลักเลือกระบบงาน และผู้บริหารที่มีความสามารถ ประการที่สาม ทั้งคู่เป็นผู้บริหารมืออาชีพอยู่แล้ว
 
ประมวลจากคำพูดของ สมเจตน์ ทำให้เห็นว่า ทุกอย่างน่าจะราบรื่น เพราะ หนึ่ง ความขัดแย้งนั้นน้อยมาก และสอง ความซ้ำซ้อนในเชิงธุรกิจแทบไม่มี
 
“เราคนไทย ด้วยกัน เราเข้าใจ คุยกันได้ ธุรกิจเหมือนกันไม่ตีกัน ก็จะมีเล็กๆ น้อยๆ ท่านประธานพูดชัดเจน เราใช้หลักฝีมือ ดูความสามารถ อย่างธนาคารนครหลวงไทยจัดเจนเรื่องสินเชื่อบ้าน คุณทำเลย เราจะเป็นฝ่ายตาม เพราะเป้าหมายของเราคืออะไรก็ได้ที่ดีกับลูกค้าและผู้ถือหุ้น”
 
ที่สำคัญ ทั้งธนาคารนครหลวงไทยเองเคยผ่านการควบรวมกับธนาคารศรีนครมาก่อนแล้ว ขณะที่ฝั่งธนาคารธนชาตเองก็ผ่านการร่วมกิจการกับโนวาสโกเทียเช่นเดียวกัน
 

“ผมว่าไทย กับไทยเนี่ยง่ายกว่าฝรั่งกับไทย เรามีประสบการณ์กับโนวาสโกเทีย ว่าเป็นฝรั่งที่เข้าใจไทย ปัญหาน้อย เขียนไทยได้เขียนไทย เขียนอังฤษได้เขียน เวลาพรีเซ็นต์พูดอังกฤษไม่ได้ ก็พูดไทย เดี๋ยวมีคนแปล เราไม่ให้ภาษาเป็นปัญหาอุปสรรค และที่สำคัญ ประธานกรรมการบันเทิง ตันติวิท พูดชัดเจนว่า ซื้อราคานี้เพราะเราเห็นค่าของทรัพยากรบุคคล แบงก์นครหลวงไทยไม่ได้มีแต่โต๊ะเก้าอี้ ฉะนั้นเรื่องคน อยู่ที่เราสามารถสร้างโอกาสให้เขาได้ใช้ความเชี่ยวชาญสร้างโพรดักท์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าหรือเปล่า”
 
อาจกล่าวได้ว่า ธนาคารนครหลวงไทย ถือว่ามีประสบการณ์ด้านธนาคารพาณิชย์มายาวนาน ดังนั้น ทรัพยากรบุคคลของแบงก์ย่อมมีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญ การได้รวมกันจึงเป็นการประสานความเชี่ยวชาญของคน 2 กลุ่มซึ่งมีความเชี่ยวชาญคนละด้าน 


ที่มา : http://www.mbamagazine.net/home/index.php/blog/43-bizandfinance/186-tbank-scib

การวิเคราะห์ข่าว :
   ผู้บริหารธนาคารธนชาตได้ออกมาเปิดเผยถึงผลการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตกับธนาคารนครหลวงไทย โดยภาพรวมในขั้นตอนต่อไปนั้น ก็คือการทำคำเสนอซื้อหุ้นคืน (tender offer)จากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยธนาคารธนชาตจะเสนอรับซื้อหุ้นในราคาเดียวกับที่ซื้อจากกองทุนเพื่อการ ฟื้นฟู ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้
     จากนั้น โดยภาพใหญ่จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ 2 ธนาคารไปอีกระยะหนึ่งจนกระทั่งทำแผนควบรวมแล้วได้รับอนุมัติจากแบงก์ชาติ คาดว่าต้นปี 2554 ก็จะเกิดการควบรวมจริงเหลือหนึ่งธนาคาร
     โดยขณะนี้ผู้บริหารสองแห่งอยู่ระหว่างการ หารือกันเพื่อที่จะเปรียบเทียบ ผลิตภัณฑ์เสนอลูกค้า ระบบงาน ระบบการตลาด ว่าตรงไหนที่เหมือนและต่างกัน แล้วนำไปสู่การวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อเสนอผู้บริหารสูงสุดพิจารณาว่าควรจะใช้ โพรดักท์แบบใด ใช้ระบบงานแบบไหน และระบบตลาดจะเป็นอย่างไร จากนั้นจะปรับเปลี่ยนทั้ง 2 ธนาคารให้มีระบบที่ว่าเหมือนกัน เพื่อให้สามารถออกไปบริการลูกค้าได้ การวิเคราะห์ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่อยู่ในแผนที่จะเสนอขออนุมัติจากแบงก์ ชาติ นอกเหนือจากการนำเสนอสภาพคล่องของธนาคาร ความเพียงพอของเงินทุน ความราบรื่นของระบบ เพื่อมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับบริการต่อเนื่องและเมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จ ปี 2554 ธนาคารธนชาตก็พร้อมที่จะทะยานออกไปต่อกรกับแบงก์ยักษ์ต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น